วันจันทร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

การท่องเที่ยว



การท่องเที่ยวทางธรรมชาติในจังหวัดกำแพงเพชร
อุทยานแห่งชาติคลองลาน
คลองลาน (Khlong Lan)
ที่ตั้งและแผนที่
อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร 62180 
โทรศัพท์ : 055-766-022-3, 0 5576 6425 โทรสาร : 0 5576 6425 
อีเมล: klonglan_np@hotmail.com 
หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ : นายศรัทธา กุนทอง
     กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ได้มีคำสั่งที่ 192/2523 ลงวันที่ 28 มกราคม 2523 ให้นายปรีชา จันทร์ศิริตานนท์ นักวิชาการป่าไม้ 4 ไปทำการสำรวจและจัดพื้นที่บริเวณป่าคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร เป็นอุทยานแห่งชาติ ปรากฏว่าพื้นที่ดังกล่าวมีสภาพป่าไม้สัก และไม้กระยาเลยสมบูรณ์มาก เป็นภูเขาสูงประกอบด้วยทิวทัศน์และธรรมชาติสวยงามมาก เป็นป่าต้นน้ำลำธาร เหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ มีมติในการประชุมครั้งที่ 1/2525 เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน2525 เห็นสมควรให้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดพื้นที่ป่าคลองลานเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยมีพระราชกฤษฎีกา กำหนดบริเวณที่ดินป่าคลองลานในท้องที่ ตำบลโป่งน้ำร้อน ตำบลคลองลาน และตำบลคลองลานพัฒนา อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2525 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 99 ตอนที่ 191 ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2525 นับเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งที่ 44 ของประเทศ
อุทยานแห่งชาติคลองลาน ตั้งอยู่ท้องที่ ตำบลโป่งน้ำร้อน คลองน้ำไหล คลองลานพัฒนา อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร อยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ 16 องศา 2 ลิปดา –16 องศา 20 ลิปดาเหนือ และอยู่ระหว่างเส้นแวงที่ 99 องศา 6 ลิปดา – 99 องศา 19 ลิปดาตะวันออก ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 187,500 ไร่ หรือ 300 ตารางกิโลเมตร
ขนาดพื้นที่
187500.00 ไร่
หน่วยงานในพื้นที่
ขุนลาน
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ คล.1 (แม่พืช)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ คล.2 (คลองน้ำไหล)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ คล.3 (เพชรจะขอ)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ คล.4 (คลองสวนหมาก)


ภาพแผนที่


ลักษณะภูมิประเทศ 
สภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน ด้านทิศตะวันออกเป็นที่ราบ ดินร่วนปนทราย ภูเขาแต่ละลูกเชื่อมโยงติดต่อกับขุนคลองลานซึ่งเป็นจุดสูงสุดในบริเวณนี้ สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,439 เมตร สภาพป่าสมบูรณ์ เป็นป่าต้นน้ำลำธาร ต้นกำเนิดของแม่น้ำหลายสาย เช่น คลองขลุง คลองสวนหมาก ไหลรวมกันลงสู่แม่น้ำปิง 

ลักษณะภูมิอากาศ
สภาพภูมิอากาศในเขตอุทยานแห่งชาติ อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 27 องศาเซลเซียส ในฤดูร้อนอากาศร้อนในตอนกลางวัน อุณหภูมิสูงสุดในเดือนเมษายน 38 องศาเซลเซียส ดู ฤดูหนาวอากาศเย็นสบาย อุณหภูมิต่ำสุดในเดือนธันวาคม 17 องศาเซลเซียส ในฤดูฝนมีฝนตกชุก ปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ย 1,300 มิลลิเมตรต่อปี 

พืชพรรณและสัตว์ป่า
ป่าดงดิบแล้ง ขึ้นอยู่ทั่วไปที่ระดับความสูงประมาณ 500เมตรขึ้นไป ชนิดไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ตะเคียนทอง ตะเคียนหิน สมพง ยมหอม พยอม สมอพิเภก เป็นต้น
ป่าเบญจพรรณ (Mixed Deciduous Forest) คิดเป็น 13.33 % ของพื้นที่ทั้งหมดของอุทยานแห่งชาติ ซึ่งสภาพป่าส่วนใหญ่จะเป็นป่าเบญจพรรณผสมป่าดงดิบ ซึ่งคิดเป็น 35.60 % ของพื้นที่ทั้งหมดของอุทยานแห่งชาติ ชนิดไม้ที่สำคัญของป่าได้แก่ ประดู่ สัก ตะแบก มะค่าโมง และไผ่ชนิดต่างๆ
ป่าชนิดอื่นๆซึ่งประกอบด้วยป่าเต็งรัง (Dry Dipterocarp Forest) ซึ่งพบในระดับความสูงประมาณ 400 – 600 เมตร ชนิดไม้ที่สำคัญของป่าได้แก่ เต็ง รัง ยอป่า สมอพิเภก รกฟ้า และสมพง เป็นต้น ป่าไผ่ ซึ่งสังคมพืชที่ขึ้นอยู่ได้แก่ ไผ่ชนิดต่างๆซึ่งขึ้นกระจายเป็นหย่อมๆ นอกจากนี้ก็มีป่าหญ้า
สัตว์ป่า
   สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมพบรวมทั้งหมด 92 ชนิด จาก 27 วงศ์ รายละเอียดแสดงดังตาราง 1 ในภาคผนวก ร้อยละ 4.35 หรือ 4 ชนิดของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่สำรวจพบเป็นสัตว์ที่มีความชุกชุมระดับมาก ร้อยละ 81.58 หรือ 75 ชนิด เป็นสัตว์ที่มีความชุกชุมระดับปานกลาง ร้อยละ 14.13 หรือ 13 ชนิด เป็นสัตว์ที่มีความชุกชุมระดับน้อย ร้อยละ 8.70 หรือ 8 ชนิด ของสัตว์ที่สำรวจพบมีสถานภาพเป็นสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ (Endangered species) โดยพิจารณาจาก ประชากร ถิ่นที่อยู่อาศัย และปัจจัยคุกคาม ได้แก่ นากใหญ่ขนเรียบ (L.perspicillata) ชะมดเช็ด (V.malaccensis) แมวป่า (F.chaus) เสือลายเมฆ (N.nebulosa) เสือดาว เสือดำ (P.pardus) เสือโคร่ง (P.tigris) วัวแดง (B.javanica) และช้างป่า (E.maximus) ร้อยละ 3.26 หรือ 3 ชนิดของสัตว์ที่สำรวจพบมีสถานภาพที่ล่อแหลมต่อการสูญพันธุ์ (Vulnerable species) โดยพิจารณาจากประชากรถิ่นที่อยู่อาศัย และปัจจัยคุกคาม ได้แก่ หมาใน(C.alpinus) เสือไฟ(F.temmincki) และกระทิง(B.quarus) ในช่วงสำรวจพบรอยเท้าสัตว์กีบชนิดหนึ่งทางทิศใต้ น่าจะเป็นรอยเท้าควายป่าแต่ยังไม่ยืนยัน 
นกพบทั้งหมด82 ชนิด ใน 27 วงศ์ รายละเอียดดังตารางที่ 2 ในภาคผนวก ร้อยละ 17.03 หรือ 14 ชนิด ของนกที่สำรวจพบมีระดับความชุกมาก ร้อยละ 80.49 หรือ 66 ชนิดที่มีระดับความชุกชุมปานกลาง และร้อยละ 2.44 หรือ 2 ชนิด มีระดับความชุกชุมน้อย ในจำนวนนกที่พบทั้งหมดไม่ปรากฏว่ามีนกชนิดใดที่มีสถานภาพล่อแหลมต่อการสูญพันธุ์หรือใกล้จะสูญพันธุ์(Valnerable or Endangered species) เมื่อพิจารณาจากประชากร ถิ่นที่อยู่อาศัย และปัจจัยคุกคาม 
สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกพบทั้งหมด 26 ชนิด ใน 5 วงศ์ รายละเอียดแสดงไว้ในตารางที่ 3 ร้อยละ 23.08 หรือ 6 ชนิดของสัตว์ที่สำรวจพบมีระดับความชุกชุมมากร้อยละ 50.00 หรือ 13 ชนิด มีระดับความชุกชุมปานกลางและร้อยละ 26.92 หรือ 7 ชนิด มีระดับความชุกชุมน้อยร้อยละ 46.15 หรือ 12 ชนิดของสัตว์ที่สำรวจพบมีสถานภาพเป็นสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์(Endangered species) โดยพิจารณาจากประชากร ถิ่นที่อยู่อาศัยและปัจจัยคุกคาม เช่น อึ่งกรายลายเลอะ(L.hasselti) เขียดหลังปุ่มที่ราบ(P.martensi) กบนา(R.rugulosa) ปาดเคราะธรรมดา(P.parvulus) ฯลฯ ร้อยละ 23.08 หรือ 6 ชนิดของสัตว์ที่สำรวจพบมีสถานภาพล่อแหลมต่อการสูญพันธุ์(Endangered species) โดยพิจารณาจากประชากร ถิ่นที่อยู่อาศัย และปัจจัยคุกคาม เช่น เขียดตะปาด(R.leucomystax) อึ่งน้ำเต้า(M.ornata) เขียดชะง่อนหิน(R.livida) กบหนอง(R.limnocharis) 
สัตว์เลื้อยคลานพบทั้งหมด 35 ชนิดใน 11 วงศ์ รายละเอียดดังตารางที่ 4 ในภาคผนวก ร้อยละ 2.86 หรือ 1 ชนิดของสัตว์ที่สำรวจพบมีระดับความชุกชุมมาก ร้อยละ 68.57 หรือ 24 ชนิด มีระดับความชุกชุมปานกลาง และร้อยละ 28.57 หรือ 10 ชนิดมีระดับความชุกชุมน้อย ร้อยละ 31.43 หรือ 11 ชนิดของสัตว์ที่สำรวจพบมีสถานภาพเป็นสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์(Endangered species) โดยพิจารณาจากประชากร ถิ่นที่อยู่อาศัย และปัจจัยคุกคาม เช่น เต่าหวาย(H.grandis) เต่าหกดำ(M.emys) กิ้งก่าบินคอแดง(D.blanfordi) แย้(L.belliana) ฯลฯ ร้อยละ 25.74 หรือ 9 ชนิดของสัตว์ที่สำรวจพบมีสถานภาพที่ล่อแหลมต่อการสูญพันธุ์(Vulnerable species) โดยพิจารณาจากประชากร ถิ่นที่อยู่อาศัย และปัจจัยคุกคาม เช่น เต่าเหลือง(I.elongata) จิ้งเหลนหางแบน(C.platyurus) กิ้งก่าหางแดง(C.platyurus) จิ้งเหลนหลากหลาย(M.maculania) 
ปลาน้ำจืด จากการสำรวจตามลำคลองต่างๆพบปลาทั้งหมด 30 ชนิดใน 11 วงศ์ ปลาที่พบส่วนมากเป็นสมาชิกในวงศ์ปลาตะเพียน(Cypridae) เช่น ปลาซิวใบไผ่(D.regina) ปลาซิวควาย(R.trilineata) ปลาเวียน(T.tambroides
)
การเดินทาง
รถยนต์
   จากกรุงเทพฯ เดินทางโดยรถยนต์ถนนสายเอเซียผ่านจังหวัดนครสวรรค์ก่อนถึงตัวจังหวัดกำแพงเพชร ที่โค้งวิไล เลยหลักกิโลเมตรที่ 307 มานิดหน่อยพอถึงสะพานลอยให้เลี้ยวซ้ายตามถนนหมายเลข 1242 ผ่านอำเภอปางศิลาทอง จนไปถึงสามแยกเขาน้ำอุ่น เลี้ยวขวาตามถนนหมายเลข 1072 ถึงสี่แยกตลาดคลองลาน ขับรถเข้าไปอีก 4 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติคลองลาน หรือ จากกรุงเทพฯ เดินทางโดยรถยนต์ถนนสายเอเซียผ่านจังหวัดนครสวรรค์ก่อนถึงตัวจังหวัดกำแพงเพชรตรงหลักกิโลเมตรที่ 346 เลี้ยวซ้ายที่ตลาดบ้านคลองแม่ลายเข้าไปตามถนนสายคลอง แม่ลาย-อุ้มผาง ระยะทาง 46 กิโลเมตร ถึงบริเวณสี่แยกตลาดคลองลานจะมีทางแยกขวามือ เข้าไปอีก 4 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติคลองลาน ซึ่งอยู่ใกล้กับน้ำตกคลองลาน 
   อุทยานแห่งชาติคลองลาน ตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอคลองลาน และอำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร ครอบคลุมพื้นที่ป่าคลองลานอันสมบูรณ์แหล่งสุดท้ายของจังหวัดกำแพงเพชร ประกอบด้วยภูเขาสูงชันสลับซับซ้อน เป็นป่าต้นน้ำลำธาร ต้นกำเนิดของน้ำหลายสาย เช่น คลองขลุง คลองสวนหมาก ซึ่งไหลรวมกันลงสู่แม่น้ำปิงและเป็นต้นน้ำ น้ำตกคลองลานไหลลงสู่คลองขลุง เนื้อที่ประมาณ 187,500 ไร่ ได้ประกาศจัดตั้งให้เป็น อุทยานแห่งชาติคลองลานเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2525


อุทยานแห่งชาติคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร
  สภาพภูมิประเทศ อุทยานแห่งชาติคลองลาน เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน ด้านทิศตะวันออกเป็นที่ราบ ดินร่วนปนทราย ภูเขาแต่ละลูกเชื่อมโยงติดต่อกับขุนคลองลานซึ่งเป็นจุดสูงสุดในบริเวณนี้ สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,439 เมตร สภาพป่าสมบูรณ์ เป็นป่าต้นน้ำลำธาร ต้นกำเนิดของแม่น้ำหลายสาย เช่น คลองขลุง

คลองสวนหมาก ไหลรวมกันลงสู่แม่น้ำปิง

   สภาพภูมิอากาศในเขตอุทยานแห่งชาติ อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 27 องศาเซลเซียส ในฤดูร้อนอากาศร้อนในตอนกลางวัน อุณหภูมิสูงสุดในเดือนเมษายน 38 องศาเซลเซียส ดู ฤดูหนาวอากาศเย็นสบาย อุณหภูมิต่ำสุดในเดือนธันวาคม 17 องศาเซลเซียส ในฤดูฝนมีฝนตกชุก ปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ย 1,300 มิลลิเมตรต่อปี


สถานที่ท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติคลองลาน
    แก่งเกาะร้อย อยู่ในเส้นทางอุ้มผาง-คลองลาน เข้าทางถนนบ้านโป่งน้ำร้อนเข้าไปประมาณ 15 กิโลเมตร แก่งเกาะร้อยเกิดจากคลองสวนหมากเป็นลำธารสลับด้วยแก่งหิน และหาดทรายขาวสะอาด อยู่ท่ามกลางทิวทัศน์แห่งขุนเขาสลับซับซ้อน ประกอบด้วยแก่งหินตะปุ่มตะป่ำนับร้อยพันก้อนเรียงรายเป็นลานกว้าง ช่วงกลางมีลำธารน้ำใสไหลผ่านเกาะแก่งหินสีเทาหม่นดูสวยงามยิ่ง
คลองสวนหมาก
   คลองสวนหมาก ลำน้ำคลองสวนหมาก เกิดจากน้ำซับจากป่าอุทยานแห่งชาติคลองลานและป่าอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า ไหลลงมารวมกันเกิดลำน้ำคลองสวนหมาก สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญและมีชื่อเสียงของลำน้ำคลองสวนหมากคือ แก่งเกาะร้อย สำหรับน้ำคลองสวนหมากจะมีนักท่องเที่ยวนิยมล่องแพยางประมาณเดือน พฤศจิกายน ซึ่งเป็นฤดูน้ำหลาก และมีแก่งหินเหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชอบท้าทายลักษณะของลำคลองสวนหมากจะเป็นแก่งหินและเนินทราย มีน้ำไหลตลอดทั้งปี
จุดชมวิวเขาหัวช้าง
    จุดชมวิวเขาหัวช้าง เป็นจุดชมทิวทัศน์ ที่อยู่ไม่ไกลจากที่ทำการมากนัก มีความสูงประมาณ 500-600 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ใช้เวลาเดินเท้าขึ้นไปประมาณ 1 ชม. สามารถมองเห็นน้ำตกคลองลาน ชมพระอาทิตย์ตกยามเย็น และพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้า เพื่อความเหมาะสม ควรค้างแรมบนสันเขาหัวช้างในช่วงปลายฝนต้นหนาว ระหว่างเดือนกันยายน-กุมภาพันธ์
น้ำตกคลองน้ำไหล
   อยู่ห่างจากน้ำตกคลองลานประมาณ 16 กิโลเมตร การเดินทางจากทางหลวงหมายเลข 1117 ตรงหลักกิโลเมตรที่ 35-36 บริเวณอุทยานแห่งชาติคลองลาน จะมีป้ายบอกทางเข้าอีก 10 กิโลเมตร น้ำตกคลองน้ำไหลเป็นน้ำตกที่สวยงามแห่งหนึ่งของจังหวัดกำแพงเพชร มีน้ำไหลลดหลั่นลงมาถึง 9 ชั้น ตลอดปี และแต่ละชั้นมีแอ่งน้ำลงไปเล่นได้อีกด้วย
    น้ำตกคลองน้ำไหล หรือน้ำตกปางควาย อยู่ห่างจากที่ทำการประมาณ 25 กิโลเมตร จากเส้นทางสายอุ้มผาง-คลองลาน ก่อนถึงอำเภอคลองลาน มีทางแยกด้านขวาเข้าสู่น้ำตก เรียกว่า ถนนปางควายระยะทาง 10.5 กิโลเมตร ถึงน้ำตกคลองน้ำไหล ซึ่งเป็นน้ำตกขนาดกลาง สายน้ำไหลลดหลั่นกันลงมา มีทั้งหมด 9 ชั้น แต่ละชั้นมีแอ่งน้ำและความสูงต่างกัน ลานหินที่นี่กว้างมากเป็นสีนิลวาววับเมื่อตัดกับสายน้ำ ลำธารสวยด้วยโขดหิน ในชั้นที่ 3 น้ำตกจะแยกเป็น 2 สาย ดูสวยงามทางฝั่งขวาไหลลงสู่แอ่งน้ำกว้างประมาณ 3 เมตร เหมาะสำหรับการเล่นน้ำตก
น้ำตกคลองลาน
    ตั้งอยู่ที่ตำบลคลองลานพัฒนา ตำบลคลองน้ำไหล และตำบลโป่งน้ำร้อน อ.คลองลาน มีเนื้อที่ 187,500 ไร่ ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2525 อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 58 กิโลเมตร การเดินทางจากตัวเมืองใช้เส้นทางหมายเลข 1116 ผ่านสถานีขนส่งและ กำแพงป้อมทุ่งเศรษฐีไปบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 1 พอถึงหลักกิโลเมตรที่ 346 ที่บ้านคลองแม่ลาย (ห่างจากตัวเมืองราว 10 กิโลเมตร) เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 1117 ทางที่จะไปอำเภอคลองลาน ไปถึง 36 กิโลเมตร จะถึงตลาดคลองลานแล้วเลี้ยวขวาไป 6 กิโลเมตร ก็จะถึงอุทยานแห่งชาติ คลองลาน หรืออีกเส้นทางหนึ่งจากกรุงเทพฯ เดินทางโดยรถยนต์ตามถนนสายเอเซียผ่านจังหวัด นครสวรรค์ไปประมาณ 17 กิโลเมตร ถึงบ้านหนองเบน จะมีทางแยกซ้ายเข้า อ.ลาดยาว จากนั้นเดินทางตามเส้นทาง ลาดยาว-คลองลาน (ทางหลวงหมายเลข 1072) ระยะทาง 102 กิโลเมตร แยกเข้าน้ำตกและเดินทางต่อเข้าอุทยานแห่งชาติคลองลาน 4 กม.
     น้ำตกคลองลาน เกิดจากเทือกเขาขุนคลองลาน ซึ่งมียอดสูง 1,439 เมตรจากระดับน้ำทะเล เหนือหน้าผาน้ำตกเป็นที่ราบกว้าง ในฤดูฝนสายน้ำจะไหลจากลำห้วยต่างๆ ประมาณ 5 สาย ลงสู่แอ่งน้ำกลางหุบเขา เกิดเป็นวังน้ำลึกและลำน้ำยาวประมาณ 3 กิโลเมตร แล้วไหลผ่านหน้าผาลงมาเป็นน้ำตกคลองลาน สูง 100 เมตร กว้างประมาณ 40 เมตร บริเวณใต้น้ำตกเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ซึ่งสามารถลงเล่นน้ำได้ อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 800 เมตร





น้ำตกเพชรจะขอ
น้ำตกเพชรจะขอ เป็นน้ำตกขนาดกลางที่นับว่าสวยงามอีกแห่งหนึ่ง ไหลลดหลั่นกันลงมาเป็นชั้นๆทั้งหมดสี่ชั้น แต่ละชั้นมีความสูงมากกว่า30 เมตร โดยเฉพาะชั้นที่สี่ที่สามารถมองเห็นได้จากถนนด้านนอกเขตอุทยานมีความสูงมากกว่า70 เมตร แต่น้ำตกที่สวยงามไม่ได้อวดความสวยงามได้ตลอดทั้งปี เนื่องจากฤดูแล้งน้ำจะน้อย การเดินทางจากสามแยกที่เลี้ยวซ้ายไปคลองน้ำไหล ให้ตรงไปตามทางประมาณ 10 กิโลเมตร จะถึงหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ คล.3 (เพชรนิยม) จากนั้นเดินเท้าเข้าไปอีก 1.5 กิโลเมตร
      เส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติน้ำตกคลองลาน เส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติน้ำตกคลองลาน อยู่ใกล้กับที่ทำการอุทยาน นักท่องเที่ยวสามารถเดินชม และสัมผัสกับธรรมชาติได้ในระยะทาง ประมาณ 1 กิโลเมตร ภายในเส้นทางมีฐานให้ความรู้ทั้งหมด 11 ฐาน



ที่ตั้ง อุทยานแห่งชาติคลองลาน ต.คลองลานพัฒนา อ. คลองลาน จ. กำแพงเพชร 62180
โทรศัพท์ 08 8407 9915, 0 5576 6002-3 โทรสาร 0 5576 6425 อีเมล khlonglan_np@dnp.go.th
ขนบธรรมเนียมประเพณีในจังหวัดกำแพงเพชร
งานงิ้ว
อำเภอคลองลาน
คลองลานจัดใหญ่ฉลอง 24 ปี ประเพณีแห่ “เจ้าพ่อ-เจ้าแม่คลองลาน”
สืบสานวัฒนธรรมชาวไทยเชื้อสายจีน

“อุทยานเลื่องชื่อ ฝีมือผ้าปัก อนุรักษ์ประเพณี วิถีชนเผ่า ศาลเจ้ารวมใจ ภูมิปัญญาไทยโอท็อป” ตลาดคลองลาน ต.คลองลานพัฒนา อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร เป็นชุมชนใหญ่ที่อยู่ในเขตเทศบาลตำบลคลองลานพัฒนา มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น มีขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมที่มีความหลากหลาย ทั้งของไทย จีน ม้ง เมี่ยน ลีซอ ปะกาเกอะญอ ตลาดคลองลานยังเป็นย่านเศรษฐกิจ การค้า มีทั้งธนาคาร ร้านสะดวกซื้อ โรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็ก อีกทั้งยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่สร้างชื่อเสียงให้กับ อ.คลองลานอีกด้วย
       จากประวัติความเป็นมาแต่เดิมนั้น ตลาดคลองลานเป็นชุมชนใหญ่ใน ต.คลองลาน พัฒนาเป็นศูนย์รวมด้านเศรษฐกิจการค้าและการท่องเที่ยว มีพี่น้องชาวไทยเชื้อสายจีนอาศัยอยู่จำนวนมาก แต่ปรากฏว่าตลาดคลองลานกลับประสบกับเหตุอัคคีภัยหลายครั้ง ทำให้ประชาชนในชุมชนตลาดคลองลานเกิดความหวาดผวาเป็นอย่างมาก ภายหลังได้มีการรวมตัวกันของคหบดี พ่อค้า ประชาชนกลุ่มหนึ่ง จำนวน 16 คน ได้ประชุมปรึกษาหารือกันเพื่อหาสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจอีกทั้งยังเพื่อปัดป้องภัยพิบัติมิให้เกิดขึ้นแก่ประชาชนทั้งหลาย โดยได้ริเริ่มการจัดงาน “งิ้ว-แห่เจ้า” เป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2532 โดยใช้ชื่อว่า “งานเจ้าพ่อ-เจ้าแม่คลองลาน” ขึ้นพร้อมๆ กับมีการสร้างองค์เจ้าพ่อ-เจ้าแม่คลองลาน ขึ้นเพื่อให้พี่น้องประชาชนรวมถึงลูกหลานชาวคลองลานทุกคนได้มีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ หากมีความทุกข์ความเดือดร้อนก็มากราบไหว้บูชา สักการะขอพรจาก องค์เจ้าพ่อ-เจ้าแม่คลองลาน ให้มีความอยู่เย็นเป็นสุข ประกอบกิจการค้าเจริญรุ่งเรือง มีสุขภาพ พลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง เพื่อความสุขความเจริญรุ่งเรือง สงบร่มเย็น ต่อมาได้มีการจัดสร้างรูปหัวใจสีน้ำเงิน ซึ่งอธิษฐานจิตปลุกเสกโดยหลวงพ่อไพบูลย์ สุมังคโล วัดป่ารัตนวราราม อ.เมือง จ.พะเยา ทั้งนี้ได้รับความอนุเคราะห์จากนายสุรชัย พึ่งจิตต์ตน นอภ.คลองลานสมัยนั้น โดยหัวใจสีน้ำเงินมีความหมายถึงความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน โดยเชื่อว่าเป็นวัตถุมงคลขององค์เจ้าพ่อเจ้าแม่ที่จะคุ้มครองให้แคล้วคลาดปลอดภัย

  นายนันทวุฒิ สรณ์ภูธรรม ประธานคณะกรรมการจัดงาน ประเพณีแห่ “เจ้าพ่อ-เจ้าแม่คลองลาน” กล่าวว่า เนื่องด้วยปีนี้ครบรอบปีที่ 24 ของการจัดงานประเพณีแห่ “เจ้าพ่อ-เจ้าแม่คลองลาน” ทั้งนี้ ได้กำหนดให้มีการจัดงานประเพณีเชื้อสายไทย-จีน “งิ้ว-แห่เจ้า ” ขึ้นระหว่างวันที่ 21-25 พ.ย.2556 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวไทยเชื้อสายจีนให้คงอยู่สู่รุ่นลูกรุ่นหลานสืบทอดกันต่อไป โดยในวันที่ 21 พ.ย. ซึ่งเป็นวันเริ่มงานตั้งแต่เวลา 07.09 น. มีพิธีถวายภัตตาหารเช้าแด่พระสงฆ์ ต่อด้วยพิธีอัญเชิญองค์เจ้าพ่อ-เจ้าแม่คลองลาน พร้อมขบวนต่างๆ ประกอบด้วย วงดุริยางค์ของนักเรียน ขบวนลูกหลานอัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ขบวนเทพธิดา นางฟ้า มังกรทอง สิงโตทอง เอ็งกอ แห่รอบตลาดคลองลานเพื่อให้ประชาชนได้สักการบูชา ส่วนกลางคืนมีแสดงโชว์ประกอบแสงเสียงของมังกรทองลอดถ้ำพ่นไฟ สิงโตกวางเจา สิงโตกวางตุ้ง เอ็งกอ ขบวนเทพธิดา นางฟ้า หลังจากนั้นจะมีการปัวะปวย หรือการเสี่ยงทาย โดยอธิษฐานบอกความต้องการแก่องค์เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ ก่อนที่จะทำการคัดเลือกคณะกรรมการฯ ในปีต่อไป วันที่ 22 พ.ย. 2556 เวลา 18.00 น. จะเป็นการเปิดงานร่วมรับประทานอาหารและประมูลสิ่งของวัตถุมงคลต่างๆ เพื่อความเป็นสิริมงคล ซึ่งทุกๆ ปีที่ผ่านมาก็ได้รับแรงศรัทธาจากพี่น้องประชาชนทั่วไปร่วมกันบริจาคทรัพย์และร่วมประมูลสิ่งของวัตถุมงคลมากมาย และในคืนวันที่ 25 พ.ย.2556 เวลา 24.00น. จะประกอบพิธีเกาเพ้าเพื่อส่งเครื่องแต่งกายให้องค์เทพเจ้า สำหรับมหรสพมีให้ชมฟรี อาทิ งิ้ว ลิเก รำวงย้อนยุค สวนสนุก คาราวานสินค้าราคาถูกมากมาย
สถานที่ที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอคลองลาน
ศูนย์หัตถกรรมชาวเขาคลองลาน (Khlong Lan Hilltribe Handicraft Center)




 ตั้งอยู่หมู่บ้านบ้านคลองลาน ตำบลคลองลานพัฒนา บริเวณปากทางเข้าอุทยานแห่งชาติน้ำตกคลองลานห่างจากตัวจังหวัดกำแพงเพชร 55 กิโลเมตร ศูนย์นี้จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ชาวเขาเผ่าต่างๆ อันได้แก่เผ่าม้ง เย้า ลีซอ มูเซอและกะเหรี่ยง ซึ่งอาศัยอยู่ในเขตอำเภอคลองลานและอำเภอขลุง มีรายได้และยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นตลอดจนเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวสู่แหล่งท่องเที่ยวในเขตอำเภอคลองลาน โดยนำสินค้าของที่ระลึกและผลิตภัณฑ์ของแต่ละเผ่ามาจำหน่ายเช่น เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของชาวเขา เครื่องประดับประเภทต่างๆ ที่ทำจากเงิน มีการสาธิตการทำเครื่องประดับจากเงินให้นักท่องเที่ยวได้ชมด้วยศูนย์นี้อยู่ภายใต้การดูแลของศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดกำแพงเพชร

ศูนย์วัฒนธรรมชาวเขา (Hill Tribes Cultural Center)


ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 1 ตำบลคลองลานพัฒนา อำเภอคลองลาน ห่างจากจังหวัดกำแพงเพชร 60 กม. เป็นแหล่งศูนย์กลางข้อมูลการท่องเที่ยวชาวเขา และรวบรวมวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวเขา จำนวน 6 เผ่า คือ ม้ง เย้า มูเซอ ลีซอ กะเหรี่ยง และลัวะ และมีบ้านพักไว้บริการให้กับนักท่องเที่ยว โดยได้จำลองบ้านของชาวเขาเข้าอยู่ในศูนย์วัฒนธรรมชาวเขาหมู่บ้าน ตลอดทั้งมีพื้นที่กางเต็นท์และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ จัดให้มีการแสดงของเยาวชนเผ่าม้ง เย้า และลีซอ ไว้ให้กับนักท่องเที่ยว ชมวิถีชีวิตของชาวเขาเผ่าต่างๆ และมีสินค้าหัตถกรรมผ้าปักเครื่องเงิน ของชาวเขาจำหน่าย เป็นของที่ระลึกให้กับนักท่องเที่ยว ผู้สนใจติดต่อได้ที่ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดกำแพงเพชร โทร. 055-786250 หรือ สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดกำแพงเพชร โทร. 055-711455

ศูนย์ส่งเสริมหัตถกรรมเครื่องเงินชาวเขา(Hill Tribes Silver Handicraft Promotion Center)


  
ตั้งอยู่ที่หมู่ 9 บ้านคลองเตย เส้นทางคลองลาน - อุ้มผาง กม.ที่ 42 ศูนย์นี้จะจำหน่ายเครื่องเงินฝีมือชาวเขาเผ่าเย้า เช่น สร้อยคอ ต่างหู สร้อยข้อมือ กำไล แหวน หากสนใจจะชมวิธีการทำและซื้อเป็นของฝาก สามารถเลือกชมและซื้อได้ที่ ศูนย์ส่งเสริมหัตถกรรมฯ เปิดบริการทุกวัน เวลา 8.00 - 17.00 น.